1. ชายหาดเกาะแต้ว ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
ชายฝั่งทะเลแถบบ้านบ่ออิฐ เกาะแต้ว เรื่อยมาทางทิศเหนือถึงเขารูปช้าง เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำนาทับ แต่เดิมมีเพียงโครงสร้างเขื่อนกันคลื่นด้านทิศเหนือของปากน้ำเพื่อป้องกันการกัดเซาะเพียง 4 ตัว แต่เนื่องจากผลกระทบของโครงสร้างนั้นนำมาซึ่งผลกระทบชิ่งแบบเป็นโดมิโน่ของชายหาดส่วนถัดไป อีกทั้งหน่วยงานรับผิดชอบเลือกที่จะสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งต่อไปเรื่อยๆ จึงเกิดโครงสร้างทั้งเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง รอดักทราย กำแพงกันคลื่นประชิดฝั่ง ต่อเนื่องยาวไปทางทิศเหนือจวบจนถึงปัจจุบัน มีเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งรวมทั้งสิ้น 18 ตัว รอดักทราย 2 ตัว และกำแพงกันคลื่นตลอดทั้งแนวยาวประมาณ 8.5 กิโลเมตร(ข้อมูลจาก www.Beachlover.net)

ชายหาดเกาะแต้ว บริเวณสถานีสูบน้ำเสียเป็นชายหาดที่มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบหินทิ้ง ซึ่งมีการวางหินทิ้งและการตอกเสาเข็มตั้งแต่หมู่บ้านสิริธาราจนถึงสถานีสูบน้ำเสียริมชายหาดบ้านเกาะแต้ว ดังภาพ


การสำรวจด้วยการถ่ายภาพช่วงเดือนมิถุนายน 2559 พบว่าชายหาดด้านเหนือของกำแพงกันคลื่น ซึ่งเป็นด้านท้ายน้ำนั้นยังคงมีสภาพสมบูรณ์ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากกำแพงกันคลื่นแบบหินทิ้งพึ่งสร้างเสร็จสิ้น ประกอบกับยังไม่เข้าสู่ช่วงมรสุม ทำให้ชายหาดไม่มีการกัดเซาะชายฝั่ง

จากนั้น Beach for life ได้ทำการลงพื้นที่สำรวจชายหาดบ้านเกาะแต้ว ในวันที่ 8 มีนาคม 2561 ชายหาดด้านเหนือกำแพงกันคลื่นได้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งลึกเข้ามาในแผ่นดิน ประมาณ 12 เมตร และกัดเซาะยาวตามแนวชายหาดระยะทางประมาณ 200 เมตร ดังภาพ ซึ่งการกัดเซาะชายฝั่งนี้เกิดขึ้นจากอิทธิของกำแพงกันคลื่น เมื่อคลื่นวิ่งเข้ามาปะทะกำแพงกันคลื่นเกิดการเลี้ยวเบนในด้านท้ายน้ำ จนทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งถึงตัวถนน


ภายหลังจากนั้นกลุ่ม Beach for life ได้ลงพื้นที่ติดตามชายหาดบ้านเกาะแต้วอีกครั้ง ในวันที่ 18 กันยายน 2561 พบว่า มีการนำหินทิ้งมาชุดใหม่มาทิ้งเป็นกำแพงกันคลื่น ระยะทาง 100 เมตร เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง

ต่อในการลงพื้นที่สำรวจในวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 เกิดการกัดเซาะชายฝั่งทำให้มีการนำหินมาทิ้งเป็นแนวกำแพงกันคลื่นเพิ่มเติม ความยาวรวม 350 เมตร เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งถนน และชายหาดด้านท้ายกำแพงกันคลื่นนั้นเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง

ภาพถ่ายทางอากาศจาก http://www.beachlove.net แสดงให้เห็นผลกระทบของกำแพงกันคลื่นที่ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ภาพด้านซ้ายถ่ายเมื่อเดือนตุลาคม 2562 ซึ่งมีความมีแนวหินใหม่สีขาววางเป็นแนวยาวเพื่อป้องกันกัดเซาะชายฝั่ง ภาพขาวคือระยะกัดเซาะชายหาดที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบหินทิ้ง และมีการตั้งงบประมาณเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โดยกรมเจ้าท่า ซึ่งจะมีการดำเนินการในปี 2563



2. กำแพงกันคลื่นบริเวณชายหาดทรายแก้ว ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นบริเวณหาดทรายแก้ว ตำบลชิงโค อำเภอเมือง จังหวัดสงขลานั้น เป็นการดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นความยาว 990 เมตร ระยะที่ 3 จากการสำรวจนั้นพบว่าบริเวณชายหาดจากภาพ Google Street view ภาพถ่ายเมื่อ เดือนกรกฎาคม 2016 พบว่า ในส่วนระยะที่ 3 นั้นพบว่าชายหาดมีสภาพสมบูรณ์ มีทิวสนทะเลตลอดแนวชายหาด


ต่อมามีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นริมชายหาดทรายแก้ว โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กลุ่ม Beach for life ได้ลงพื้นที่ถ่ายภาพในพื้นที่โครงการ

หลังจากกรมโยธาธิการและผังเมืองก่อการสร้างกำแพงกันคลื่นไปได้ระยะหนึ่ง Beach for life ได้ลงพื้นที่สำรวจชายหาดทรายแก้ว ในวันที่ 22 มิถุนายน 2562 พบว่า ด้านท้ายน้ำของกำแพงกันคลื่นเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงจนทำให้ถนนพังเสียหายกว่าครึ่งเลน ระยะทางยาวตามแนวชายฝั่งกว่า 250 เมตร ดังภาพ

ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม 2562 Beach for life ได้ลงพื้นที่หาดทรายแก้ว พบว่ามีการกัดเซาะชายฝั่งตลอดแนวชายหาดประมาณ 1,000 เมตร จากปลายกำแพงกันคลื่น และมีการถมหินทิ้งเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณถนนในตำแหน่งที่เกิดการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มเติมดังภาพ


ภาพรวมการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดทรายแก้ว ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา (ภาพจาก http://www.Beachlover.net)
