ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพการตัดชันของชายหาดชลาทัศน์ บริเวณจุดที่มีการเติมทราย ได้ถูกเผยแพร่ออกไปในสังคมออนไลน์และเกิดความเห็นต่างๆมากมายกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น Beach for life อยากนำเสนอข้อมูลซึ่งเป็นผลจากการติดตามสภาพชายหาด บริเวณจุดที่มีการเติมทรายและเกิดการตัดชันเป็นหน้าผาที่เกิดขึ้นบริเวณหาดชลาทัศน์ ดังนี้
Beach for life และอาสาสมัครติดตามสภาพชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ลงพื้นที่ติดตามสภาพชายหาดทุกเดือน ทำให้ได้รูปตัดชายหาด B2 เเละชายหาดตั้งเเต่ ปากคลองสำโรงถึงหน้าสนามมวย ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งมีการเติมทราย เเละเกิดการตัดชันเป็นหน้าผาของชายหาด ในตำแหน่ง B2 ซึ่งเป็นตำเเหน่งที่มีการเติมทรายชายหาด พบว่า ในเดือนตุลาคม 2562(กราฟเส้นสีส้ม)เดิมชายหาดบริเวณนี้ถูกเติมทรายมีระยะความยาวของหาดทั้งสิ้น 150 เมตร และมีการตัดชันในระยะ 132 เมตร แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงมรสุมในเดือนพฤศจิกายน 2562 (กราฟเส้นสีฟ้า) ชายหาดมีการตัดชันของชายหาดที่ถูกเติมทราย ลึกประมาณ 120 เซนติเมตร ในระยะที่ 126 เมตร ดังภาพที่ 2


ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากการที่การเติมทรายชายหาดชลาทัศน์นั้น ไม่มีการตัด Slope ของชายหาด มีการบดอัดที่ไม่ดีพอ ทำให้เมื่อคลื่นวิ่งเข้ามาปะทะจึงเกิดการตัดชันเป็นหน้าผา ประกอบกับวัสดุที่นำมาเติมทรายนั้น เป็นตะกอนที่มีลักษณะเป็นทราย ดินปนทราย และดินเหนียว ซึ่งเมื่อนำมาเติมทรายทำให้เกิดการแยกชั้นกันของตะกอนอย่างชัดเจนและเมื่อคลื่นวิ่งเข้ามาปะทะทำให้เกิดการตัดชันเป็นหน้าผา ดังภาพ



การตัดชันเป็นหน้าผาเช่นนี้ เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วเมื่อมีการเติมทรายในปี 2556 ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากวัสดุที่นำมาเติมทรายนั้นเป็นดินปนทราย ไม่มีการบดอัด ทำให้เกิดการตัดชันเป็นหน้าผา
จากกรณีการตัดชันเป็นหน้าผาของหาดชลาทัศน์ หลังมีการเติมทรายนั้น กลุ่ม Beach for life อยากพาผู้อ่านไปดูชายหาดพัทยา ซึ่งมีการเติมทรายเช่นกัน แต่ไม่มีการตัดชันเป็นหน้าผา จากการลงพื้นที่ศึกษาการเติมทรายชายหาดพัทยานั้น ทำให้เราเห็นว่า การเติมทรายที่ชายหาดพัทยามีการออกแบบ Slope ของชายหาดเพื่อรับแรงคลื่น ประกอบกับเมื่อดูวัสดุที่นำมาเติมทรายนั้น เราพบว่าเป็นทรายทั้งสิ้น โดยสามารถสังเกตได้จากทางระบายน้ำที่ไหลลงสู่ชายหาด เราไม่พบว่ามีการแยกชันของตะกอน นั้นหมายความว่าวัสดุที่นำมาเติมทรายมีลักษณะใกล้เคียงกัน เป็นทรายทั้งสิ้น


ทั้งนี้การเติมทรายชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ถึงแม้จะล่วงเลยสัญญาที่ได้ตั้งไว้ก็ตาม ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราเห็นว่า การเติมทรายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์นั้นยังมีข้อบกพร่องในเชิงเทคนิคอีกหลายประการ ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพของการเติมทราย ดังนั้นเราต้องจับตามอง และช่วยการติดตามการเติมทราย รวมถึงเสนอแนะข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้กับเจ้าของโครงการ นั้นคือกรมเจ้าท่าได้รับทราบเพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข แสวงหาแนวทางในการทำให้โครงการเติมทราย ให้มีประสิทธิภาพ และป้องกันชายหาดได้จริง
