Beach for life ได้ติดตามสภาพชายหาดม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหมู่ที่ 7,8 และ 9 ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยการดำเนินโครงการนี้เป็นการดำเนินการเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ชายหาดม่วงงาม โดยกรมโยธาธิการได้ว่าจ้างบริษัท เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตน์ จำกัด และบริษัท แมโครคอนซัลแตนท์ จำกัด ศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายหาดม่วงงาม ลักษณะกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได พร้อมการปรับปรุงภูมทัศน์ตลอดแนวชายฝั่ง โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะโครงการ ระยะที่ 1 ในพื้นที่หมู่ที่ 7 ระยะทาง 710 เมตร และ ระยะที่ 2 ในพื้นที่หมู่ที่ 7,8 และ 9 (ต่อเนื่องจากระยะที่ 1) ระยะทาง 1,995 เมตร โดย การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของกรมโยธาธิการฯ นั้น พบว่า การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งบริเวณชายหาดม่วงงามในพื้นที่โครงการนั้น มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่ง 0.56-1.49 เมตรต่อปี และการสำรวจสภาพชายฝั่งในพื้นที่โครงการ พบว่า สภาพชายฝั่งปัจจุบันมีช่วงเขื่อนป้องกันตลิ่งประเภทเกเบียนแต่อยู่ในสภาพชำรุดเสียหายจนบางบริเวณไม่สามารถป้องกันชายฝั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และชายฝั่งบางช่วงยังไม่มีโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง สภาพชายฝั่งบางบริเวณถูกคลื่นกัดเซาะเข้ามาถึงถนน
การดำเนินโครงการดังกล่าวนี้ กลุ่ม Beach for life ซึ่งติดตามสภาพชายหาดมาอย่างยาวนาน มีข้อสงสัยและข้อห่วงกังวลต่อการดำเนินโครงการฯ 5 ประการดังนี้
ประการที่ 1 การดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายหาดม่วงงาม โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองนั้น อาจไม่มีความจำเป็น ในการดำเนินโครงการดังกล่าว ด้วยเหตุผล ชายหาดม่วงงามในพื้นที่ หมู่ที่ 7 ,8 และ 9 นั้น มีการกัดเซาะชายฝั่งในระดับต่ำ จากข้อมูลเส้นแนวชายฝั่งโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปีพ.ศ. 2013 และปี พ.ศ. 2015 แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของเส้นแนวชายฝั่งหาดม่วงงามมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

ประกอบกับข้อมูลจากการศึกษาโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายหาดม่วงงาม โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองนั้น พบว่าอัตราการกัดเซาะชายฝั่งหาดม่วงงามนั้นมีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งเฉลี่ย 0.56-1.49 เมตรต่อปี เมื่อนำอัตราการกัดเซาชายฝั่งที่ปรากฎในผลการศึกษาของโครงการไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์การกัดเซาะชายฝั่ง ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนั้น ถือว่าเป็นอัตราการกัดเซาะชายฝั่งในระดับต่ำ

จากการลงพื้นที่ถ่ายภาพชายหาดพื้นที่หาดม่วงงามในช่วงพายุปาบึกพัดผ่านพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดปัตตานี จนถึง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อช่วง วันที่ 4 เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2561 เปรียบเทียบกับภาพถ่ายตำแหน่งเดิมซึ่งถ่ายไว้ ณ วันที่ 10 เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นช่วงหลังพายุพัดผ่าน ทำให้พบว่า ชายหาดม่วงงามบริเวณหมู่ที่ 7 จะมีการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายหาดม่วงงาม สภาพชายหาดไม่ได้มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ชายหาดยังคงมีสภาพปกติ

ถ่ายเมื่อ วันที่ 4 เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2561

ถ่ายเมื่อ วันที่ 4 เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2561

ถ่ายเมื่อวันที่ 10 เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2561

ถ่ายเมื่อวันที่ 10 เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2561
เมื่อพิจารณาสภาพชายหาดพื้นที่หมู่ที่ 2, 3, 7,8 และ 9 ของตำบลม่วงงามนั้น จะพบว่า การกัดเซาะชายฝั่งหาดม่วงงามนั้น มีจำนวน 2 พื้นที่ที่มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง อันเป็นผลจากการการรุกล้ำพื้นที่ชายฝั่ง โดยโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ทางด้านใต้ของชายหาดม่วงงามที่มีโครงสร้างเป็นสะพานปลา ซึ่งทำหน้าที่ดักทรายไว้ ทำให้ตะกอนทรายที่เคลื่อนตัวจากทิศใต้ไปยังทิศเหนือไม่สามารถเคลื่อนผ่านไปได้ ส่งผลให้ด้านท้ายน้ำของสะพานปลาเกิดการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่หมู่ที่ 7

นอกจากโครงสร้างสะพานปลาที่เป็นต้นเหตุทำให้ตะกอนทรายถูกดักไว้ ทำให้ทรายไม่สามารถเคลื่อนมายังชายหาดถัดจากโครงสร้างสะพานปลาได้ อีกทั้งพื้นที่ชายหาดหมู่ที่ 7 บางส่วน จนไปถึงหมู่ที่ 8 และ 9 ของบ้านม่วงงามนั้น มีกองหินเกเบียน ซึ่งเป็นกำแพงกันคลื่นที่สร้างไว้โดยกรมทางหลวง ทำให้คลื่นวิ่งเข้ามาปะทะกำแพงกันคลื่น กระชากส่วนที่เป็นทรายหน้ากำแพงกันคลื่นออกไปนอกชายฝั่ง สังเกตจากบริเวณหน้ากำแพงกันคลื่นได้ว่า จะมีปริมาณทรายสะสมไม่มากนัก และด้วยโครงสร้างเกเบียนบางส่วนมีการชำรุดเสียหาย ทำให้ความแรงของคลื่นปะทะเข้ามาถึงเกเบียนแล้วคลื่นกระโจนข้ามเข้าไปกัดเซาะพื้นที่ด้านหลังเกเบียนทำให้ปรากฎร่องรอยความเสียหายเกิดขึ้น เช่น ขอบถนนชำรุดและพัง หรือมีรากต้นสนโผล่ขึ้นมาจากใต้ดิน แต่ในส่วนพื้นที่เหนือกองหินเกเบียนขึ้นไปนั้น ชายหาดมีสภาพเป็นปกติตามธรรมชาติ กว้างยาวไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงแต่อย่างใด

โดยสรุป การเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดม่วงงามนั้นจะพบว่า บริเวณที่มีโครงสร้างของสะพานปลา และกองหินเกเบียน ในบริเวณนั้นจะมีการกัดเซาะชายฝั่งและเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพชายฝั่ง แต่บริเวณที่ไม่มีโครงสร้างป้องกันชายฝั่งเช่น หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 9 ที่อยู่ในพื้นที่โครงการนั้น สภาพชายหาดม่วงงามมีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ไม่ได้มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงแต่อย่างใด และไม่จำเป็นต้องมีการสร้างโครงสร้างกำแพงกันคลื่นขนาดใหญ่เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่อาจก่อการเปลี่ยนแปลงชายหาดอย่างร้ายแรง ตามที่โครงการกำลังดำเนินอยู่ ณ ปัจจุบัน
ประการที่ 2 จากรายงานการสรุปความเป็นมาและความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายหาดม่วงงาม โดยมีการคำนวณเส้นแนวชายฝั่ง ในอีก 25 ปีข้างหน้าหากไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เมื่อมาพิจารณาแล้วจะพบว่า การที่เส้นสีแดงปรากฏดังภาพในอีก 25 ปีข้างหน้า เส้นสีแดงตามแนวดังกล่าวจะมีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง และมีการตั้งฉากแนวการกัดเซาะเข้าไปในแผ่นดินจนถึงสนามฟุตบอล แต่จากข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในพื้นที่ โดยการใช้ภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลังระยะเวลาไป 10 ปี จะพบว่าชายหาดเส้นแนวชายฝั่งไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากแต่อย่างใด ดังนั้น ข้อสังเกตผลการศึกษาการกัดเซาะชายฝั่งอีก 25 ปีข้างหน้า จะมีการกัดเซาะเข้าไปถึงสนามฟุตบอลนั้น ข้อมูลนี้อาจไม่สมเหตุสมผลและไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เพราะถ้าสังเกตจากการเปลี่ยนตามธรรมชาติแล้วนั้น ชายหาดสามารถฟื้นฟูกลับคืนสภาพตามปกติเป็นแบบพลวัตตามธรรมชาติเมื่อช่วงมรสุ่มผ่านไป

ประการที่ 3 การดำเนินก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งชายหาดม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองนั้น เป็นการดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง ประเภทกำแพงกันคลื่นหรือ Sea Wall โดยกำแพงกันคลื่นนั้นเป็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่งประเภทหนึ่งที่สร้างติดประชิดชายฝั่ง มีหน้าที่เพื่อป้องกันแผ่นดิน หรือป้องกันพื้นที่ด้านหลังกำแพงกันคลื่นไว้ แต่อย่างไรก็ตามกำแพงกันคลื่นนั้นเป็นโครงสร้างแข็งที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาด กล่าวคือ เมื่อคลื่นวิ่งเข้ามาปะทะกำแพงกันคลื่น แรงคลื่นที่เข้ามาปะทะจะมีพลังงานเพิ่มขึ้น ทำให้คลื่นม้วนตัวและกระชากทรายหน้ากำแพงกันคลื่นออกไป ส่งผลให้พื้นที่หน้ากำแพงกันคลื่นไม่มีตะกอนทรายสะสม และคลื่นบางส่วนอาจจะกระโจนข้ามพ้นกำแพงกันคลื่นเข้ามาในแผ่นดินได้อีกด้วย รวมไปถึงเมื่อแรงคลื่นที่ปะทะสิ้นสุดปลายของกำแพงกันคลื่นแรงคลื่นจะมีเกิดการเลี้ยวเบน ส่งผลทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงด้านท้ายน้ำของกำแพงกันคลื่นนั้นเอง


จากกรณีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ได้แสดงถึงผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่งด้านท้ายน้ำอย่างรุนแรง อันเป็นเหตุต้องสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปเรื่อยๆ รวมไปถึงผลกระทบของกำแพงกันคลื่นที่ทำให้คลื่นเข้ามาปะทะและกระชากมวลทรายออกไปนอกจากฝั่งทำให้เกิดการสูญเสียหาดทรายหน้ากำแพงกันคลื่นไป ตัวอย่าง ชายหาดที่มีการสร้างกำแพงกันคลื่นแล้วทรายหน้ากำแพงกันคลื่นหายไป ได้แก่ ชายหาดปราณบุรี อำเภอปราณบุรี ชายหาดอ่าวน้อย ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และชายหาดทรายแก้ว ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ดังภาพ


โดยกรมโยธาธิการฯ


ประการที่ 4 ความพยามของกรมโยธาธิการในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายหาดม่วงงาม เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โดยออกแบบโครงการไว้ 2 โครงการ คือ หมู่ที่ 7 ระยะทาง 710 เมตร และ หมู่ที่ 7, 8 และหมู่ที่ 9 ระยะทาง 1,995 เมตรนั้น อาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างแท้จริง เนื่องจากพื้นที่โครงการนั้นมีการกัดเซาะในระดับที่ต่ำ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาดตามธรรมชาติแบบปกติ และพื้นที่ที่มีการการสร้างกำแพงกันคลื่นอาจก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่ด้านท้ายน้ำเมื่อสุดสิ้นโครงการ ดังนั้น การดำเนินการสร้างกำแพงกันคลื่นเช่นนี้ จึงไม่อาจแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้จริง แต่เป็นการย้ายปัญหา และสร้างปัญหาใหม่ให้พื้นที่ชายฝั่งอื่นอย่างต่อเนื่องทั้งระบบ ดังนั้นโครงการนี้จึงไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้
ประการสุดท้าย ปัจจุบันการดำเนินโครงการนี้มีประชาชนในพื้นที่ ที่มีความเห็นต่าง ไม่สนับสนุนในการสร้างกำแพงกันคลื่น ต่างออกมาคัดค้าน พร้อมแสดงความเห็นในการรักษาหาดทรายไว้ และแสดงถึงข้อห่วงกังวลต่อการดำเนินโครงการอันเป็นเหตุให้หาดทรายอันสวยงามของม่วงงามอาจต้องสูญเสียไป ในเมื่อมีประชาชนร่วมออกมาแสดงข้อห่วงกังวล และร่วมกันคัดค้านการดำเนินการ ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิ เสรีภาพของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่จะพิทักษ์รักษาทรัพยากรของชุมชนไว้ จึงขอให้กรมโยธาธิการฯ ได้รับฟังเสียงของประชาชน โดยทำการ หยุดหรือชะลอโครงการไว้ก่อนเพื่อร่วมพูดคุยด้วยท่าทีที่เป็นกัลยาณมิตร ด้วยมีเหตุผลรองรับตามหลักวิชาการหรือความเป็นจริงที่ปรากฏ และรับฟังข้อห่วงกังวลของประชาชนอย่างเข้าใจจริง พร้อมด้วยคลายความห่วงกังวลของประชาชนด้วยควาสัตย์จริง
กล่าวโดยสรุป คือ การดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายหาดม่วงงามนั้น เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด ไม่ถูกที่ ไม่สมควรแก่เหตุแห่งความจำเป็น อันเนื่องจากชายหาดม่วงงามไม่ได้มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้ต้องเลือกการสร้างกำแพงกันคลื่น ซึ่งกำแพงกันคลื่นนั้นในทางหลักวิชาการได้กล่าวว่า เป็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อกระบวนการของชายฝั่ง รวมถึงการเลือกสร้างกำแพงกันคลื่นเป็นเหตุซ้ำเติมเพิ่มปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มมากขึ้น และเป็นการเร่งให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ชายหาดบริเวณใกล้เคียง ดังนั้นกลุ่ม Beach for life จึงมีความเห็นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวนั้น จึงไม่สมควรเกิดขึ้นในพื้นที่ชายหาดม่วงงาม กลุ่ม Beach for life มีความเชื่อมั่นว่า การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดม่วงงาม ยังมีวิธีการอื่นๆ ที่เป็นมิตรต่อชายหาดและยังคงรักษาหาดทรายของชุมชนไว้ได้ ที่มิใช่การสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งด้วยกำแพงกันคลื่น ด้วยเหตุนี้จึงขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้พิจารณาทบทวนการดำเนินโครงการนี้ใหม่ เพื่อรักษาหาดทรายของชุมชนไว้ต่อไป
