โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โครงการนี้ ดำเนินการโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง ลักษณะของโครงการ “ก่อสร้างกำแพงกันคลื่น แบบขั้นบันได พร้อมการปรุงภูมิทัศน์ด้านหลังกำแพงกันคลื่น ” วัตถุประสงค์โครงการ คือ เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช

การดำเนินโครงการดังกล่าว กรมโยธาธิการฯ ได้แบ่งโครงการดังกล่าวออกเป็น 3 เฟสโครงการ
- เฟสที่ 1 ระยะทาง 92 เมตร (สร้างเสร็จสิ้นแล้ว)
- เฟสที่ 2 ระยะทาง 1,102 เมตร (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง)
- เฟสที่ 3 ระยะทาง 555 เมตร (ลงนามในสัญญาจ้างแล้วเตรียมดำเนินการ)

โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โดยกรมโยธาธิการฯ โครงการดังกล่าวนั้นมีข้อสังเกตหลายประการที่สะท้อนให้เห็นความผิดปกติ และความไม่สมเหตุสมผลในการดำเนินโครงการดังกล่าว เช่น ความไม่จำเป็นในการดำเนินโครงการ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อชายหาดอย่างรุนแรง หรือ ข้อท้วงติงจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อโครงการดังกล่าว เป็นต้น ข้อสังเกตในประเด็นต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ผู้เขียนจะอธิบายขยายความให้เห็นละเอียดชัดเจนขึ้น เพื่อสรุปว่าโครงการดังกล่าว มีความผิดปกติและไม่สมเหตุสมผลตามประเด็นต่างๆ ดังนี้
ประการที่ 1 ความไม่จำเป็นในการดำเนินโครงการ
เครือข่ายประชาชนรักษ์หาดสทิงพระ ได้ยื่นหนังสือให้ตรวจสอบการดำเนินการโครงการ และตรวจสอบพื้นที่ชายหาดมหาราช ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ตอบหนังสือและยืนว่า “ชายฝั่ง” ในพื้นที่ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ในช่วง 3-5 ปี ไม่พบการกัดเซาะชายฝั่ง ชายหาดมีสภาพสมดุล แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้างในช่วงมรสุม และกลับเข้าสู่สมกุลในช่วงหลังมรสุม

ข้อมูลแสดงการกัดเซาะชายฝั่งจากรายงานเอกสารสรุปโครงการฯ ของกรมโยธาธิการฯ จัดทำโดย บริษัท แมโครคอนซัลแตนท์ จำกัด ระบุว่า พบการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณพื้นที่โครงการ อยู่ในช่วง 0.59 – 2.68 เมตรต่อปี เมื่อเทียบกับเกณฑ์การกัดเซาะชายฝั่ง ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นั้นพบว่า อยู่ในระดับการกัดเซาะปานกลาง มีมาตรการเขียว ขาว เทา ซึ่งให้ใช้มาตรการหลักคือการติดตามการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง และเมื่อพิจารณาอัตราการกัดเซาะชายฝั่งตลอดแนวชายหาดมหาราช จะพบว่า การกัดเซาะชายฝั่งสูงสุด 2.68 เมตร ในระยะที่ 2+100 – 2+200 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การกัดเซาะชายฝั่งที่เป็นการกัดเซาะในระดับสูงไม่ได้ได้เกิดขึ้นทุกๆตำแหน่งของชายหาด

บริเวณชายหาดมหาราช มีถนนขนานกับชายหาด ซึ่งถนนนั้น ตั้งอยู่ในเขตอิทธิพลของทะเล คลื่นสามารถเข้ามาถึงถนนในบางฤดูกาล ภาพถ่ายที่กรมโยธาธิการฯ กล่าวอ้างว่ามีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุให้ต้องดำเนินการสร้างกำแพงกันคลื่น เป็นการกัดเซาะชายฝั่งในปี 2557 ซึ่งเกิดขึ้นปีเดียว และหลังจากนั้นหากก็ไม่ได้มีการกัดเซาะชายฝั่งเข้ามาถึงถนน ภาพที่กรมโยธาธิการนำเสนอนั้น หากพิจารณาแล้วจะพบว่ามีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ทำไมมีร่องรอยกัดเซาะเพียงบริเวณจุดเดียว บริเวณปากท่อระบายน้ำ ในตำแหน่งอื่นๆไม่มีการกัดเซาะชายฝั่ง ชายหาดยังพบหญ้าริมชายหาดปกคลุมพื้นที่อยู่ ซึ่งการกัดเซาะบริเวณปากท่อระบายน้ำเช่นนี้ ชาวบ้านมักเรียกกันว่า วะแตก หรือปากระวะแตก คือ ปรากฎการณ์ที่น้ำแผ่นดินในช่วงฤดูฝนไหลลงสู่ชายหาด ทำให้เกิดทางระบายน้ำขนาดใหญ่ การที่มีถนนกั้นน้ำไว้ และมีท่อขนาดเล็กทำให้บริเวณปากท่อระบายน้ำได้รับความเสียหายจากแรงดันของน้ำจากแผ่นดินที่พยายามไหลลงสู่ชายหาดและทะเล ปัญหาเช่นนี้สามารถแก้ไขได้โดยการซ่อมถนนที่ได้รับความเสียหาย และสร้างหูช้างเพื่อทำให้ปากท่องระบายน้ำความแข็งแรงมากขึ้นก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างกำแพงกันคลื่น



การสำรวจพื้นที่โครงการในระยะที่ 3 ความยาว 555 เมตรนั้น ยิ่งชี้ชัดให้เห็นว่าชายหาดบริเวณหาดมหาราชนั้นมีเสถียรภาพ ไม่พบร่องรอยการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง โดยจะสังเกตได้จากชายหาดมีแนวหญ้า ผักบุ้งทะเล ต้นรัก ที่ขึ้นอยู่บนชายหาดซึ่งสะท้อนความมีเสถียรภาพของชายหาดได้เป็นอย่างดี


กล่าวโดยสรุปจากข้อมูลและหลักฐานที่มีมานั้น แสดงให้เห็นว่าหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา มีไม่ได้มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ตามที่กรมโยธาธิการกล่าวอ้าง เป็นเหตุผลในการดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นทั้ง 3 ระยะของโครงการ การกำหนดมาตรการสร้างกำแพงกันคลื่น ความยาวเกือบ 2 กิโลเมตร มูลค่ากิโลเมตรละ 152,000,000 บาท จึงเป็นมาตรการที่เกินต่อความจำเป็น
การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมหาดมหาราช ไม่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เเละเป็นการเอาภาษีประชาชนมาใช้เกินความจำเป็น
ประการที่ 2 โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งนี้ในทางวิศวกรรม คือ การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบขั้นบันได การก่อสร้างในลักษณะนี้หลายพื้นที่มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงในทางด้านท้ายน้ำของโครงการ และหาดทรายด้านหน้ากำแพงกันคลื่นหายไป ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต การใช้ประโยชน์หาดทรายที่ประชาชนเคยได้ใช้ประโยชน์
การดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมหาดมหาราชนั้น เมื่อพิจารณาโครงสร้างแล้วจะพบว่าเป็นโครงสร้างกำแพงกันคลื่น ที่ตั้งอยู่ในเขตอิทธิพลของคลื่น โดยสังเกตได้จากลูกศรสีแดง ชี้ระดับน้ำสูงสุดในสภาวะปกติ ระดับน้ำทะเลจะอยู่บริเวณตีนเขื่อนพอดี นั้นหมายความว่า โครงสร้างดังกล่าวจะล่วงล้ำลงไปทะเล เมื่อโครงสร้างอยู่ในเขตอิทธิพลของทะเลย่อมทำให้คลื่นที่วิ่งเข้ามาปะทะโครงสร้างเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไป โดยจะก่อให้เกิดการกระชากทรายหน้ากำแพงออกนอกชายฝั่ง และเกิดผลกระทบด้านท้ายน้ำหรือด้านเหนือของโครงการทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งต่อเนื่องไป ดังภาพ


การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทย และในหลายพื้นที่นั้นกำแพงกันคลื่นได้สร้างผลกระทบต่อชายหาดในลักษณะของการสูญเสียพื้นที่ชายหาดด้านหน้ากำแพงกันคลื่นไปอย่างถาวร รวมถึงการสร้างผลกระทบด้านท้ายน้ำของกำแพงกันคลื่นทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งต่อเนื่องไปทางด้านเหนือ จนเป็นเหตุให้ต้องก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปเรื่อยๆ ดังตัวอย่าง ชายหาดหาดทรายแก้ว อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา หาดปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หาดพระแอะ จังหวัดกระบี่ เป็นต้น






ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่า โครงสร้างกำแพงกันคลื่นในลักษณะนี้ได้สร้างผลกระทบต่อชายหาดทำให้ชายหาดด้านหน้ากำแพงกันคลื่นหายไปและสร้างผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่งในด้านเหนือของโครงการ ซึ่งในการตั้งวัตถุประสงค์ของโครงการนั้น เป็นการดำเนินการเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่โครงสร้างดังกล่าวได้สร้างปัญหา และส่งผลทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ถัดไป ถือว่า โครงการอาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์แห่งการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และ เป็นการซ้ำเติมเพิ่มปัญหาให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มเติมในพื้นที่ท้ายน้ำของโครงการ
อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาด จากหาดทรายให้กลายเป็นกำแพงกันคลื่นยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง หาดทรายมีสิ่งมีชีวิตต่างๆอาศัยอยู่ริมชายหาด เช่น หอยเสียบ จักจั่นทะเล หอยตลับ ปูลม ดาวทราย ซึ่งสัตว์ทะเลเหล่านี้อาศัยใช้หาดทรายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แต่เมื่อหาดทรายหายไปถูกแทนที่ด้วยกำแพงคอนกรีตสิ่งมีวิตเหล่านี้ก็ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพหาดทรายให้กลายเป็นกำแพงกันคลื่นยังกระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยใช้ประโยชน์ริมหาดทราย เช่น การรุนเคยริมหาด การจอดเรือริมชายหาด การหาหอยเสียบ การทำอวนทับตลิ่ง วิถีชีวิตที่กลายมาจะไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ เพราะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณชายหาดได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ท้ายที่สุดการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นนำมาซึ่งการหายของหาดทรายหน้ากำเเพงกันคลื่นเเละทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งด้านท้ายน้ำของกำเเพงกันคลื่น
ประการที่ 4 การดำเนินโครงการก่อสร้างไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวประมงริมชายฝั่ง
ในกรณีหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา พื้นที่โครงการเฟสที่ 2 อยู่ห่างจากชุมชนประมงที่ใช้หาดทรายในการจอดเรือเพียง 100 เมตร โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในระยะที่ 3 ตั้งอยู่ในพื้นที่ชายหาดที่มีชุมชนประมงใช้หาดทรายในการจอดเรืออยู่ กว่า 20 ลำ วิถีชีวิตของชาวประมงริมชายหาดใช้หาดทรายในการจอดเรือ ถึงฤดูรุนเคยก็รุนเคยริมชายหาด หากหาดทรายหายไป วิถีชีวิตเหล่านี้ก็จะถูกทำลายไปด้วย ดังนั้นโครงการนี้จึงไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของชุมชนชายฝั่ง ซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์หาดทรายอย่างแท้จริง


ประการที่ 5 ข้อทวงติงจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าโครงการนี้ละเมิดสิทธิมนุษยชน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ตรวจสอบการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมหาดมหาราช จังหวัดสงขลา และได้มีความเห็นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2563 ว่า เห็นควรให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ชะลอโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลฯ หาดมหาราช ระยะที่ 2 และหารือร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อประเมินผลกระทบจากโครงการดังกล่าวว่ามีความเหมาะสมกับสภาพปัญหาในพื้นที่และควรดำเนินการต่อไปหรือไม่ ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวจะต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างครบถ้วน ส่วนการดำเนินโครงการในระยะที่ 3 และโครงการในลักษณะเดียวกันนี้ในพื้นที่อื่น ควรชะลอไปก่อนจนกว่าจะมีกฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง
